จากการเป็น ‘ผู้รับ’ ผ้าห่มเพื่อคลายหนาว ได้เติบโตเป็นเด็กสาววัยรุ่นน่ารัก ที่เปลี่ยนบทบาทจากผู้รับมาเป็น ‘ผู้ให้’
จากการเป็น ‘ผู้รับ’ ผ้าห่มเพื่อคลายหนาว ได้เติบโตเป็นเด็กสาววัยรุ่นน่ารัก ที่เปลี่ยนบทบาทจากผู้รับมาเป็น ‘ผู้ให้’
จากเด็กน้อยผู้มีน้ำเสียงใสแจ๋ว เจ้าของวลี ‘ขอบคุณเจ้า’ อาจัว-มธุรดา เลาว้าง ที่เริ่มต้นจากการเป็น ‘ผู้รับ’ ผ้าห่มเพื่อคลายหนาว ได้เติบโตเป็นเด็กสาววัยรุ่นน่ารัก ที่เปลี่ยนบทบาทจากผู้รับมาเป็น ‘ผู้ให้’ ร่วมเดินทางกับโครงการ ‘ไทยเบฟ…รวมใจต้านภัยหนาว’ มาตลอดระยะเวลาหลายปี เป็นอีกหนึ่งตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่พร้อมสานต่อสังคมแห่งการให้ที่ยั่งยืน
จากเจตนารมณ์เริ่มต้นของโครงการ ‘ไทยเบฟ…รวมใจต้านภัยหนาว’ ที่ต้องการส่งมอบความอบอุ่นสู่คนไทยที่ประสบภัยหนาว ผ่านผ้าห่มผืนเขียวเป็นเอกลักษณ์ในทุกๆ ปี
เมื่อวันเวลาผ่านไป กลายเป็นว่าทั้งคาราวานที่ออกเดินทางไกลค้นพบว่า ไม่ใช่เพียงแค่ความอบอุ่นทางกายเท่านั้นที่เกิดขึ้น แต่ยังหมายความถึงความอบอุ่นทางใจที่ผู้ประสบภัยหนาวได้รับรู้ว่ายังมีคนที่เป็นห่วงพวกเขาอยู่ เกิดเป็นการส่งต่อพลังและสร้างสายใยแห่ง ‘การให้’ ที่ยั่งยืนต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ
เหมือนที่ คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เคยกล่าวเอาไว้ว่า “ในฐานะบริษัทของคนไทย เรามีนโยบายที่ส่งเสริมการแบ่งปันและการช่วยเหลือกันในสังคมไทยมาโดยตลอด เพราะเราเชื่อว่าคนไทยให้กันได้ และบริษัทจะยังคงเน้นในเรื่องของการแบ่งปันเช่นนี้ต่อไปไม่มีสิ้นสุด”
แน่นอนว่าการให้ที่ยั่งยืนจะสำเร็จได้ ต้องมีคนรุ่นใหม่มาสืบทอดสานต่อ และหนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่ยืนหยัดอยู่คู่โครงการนี้มาตลอดระยะเวลาหลายปีก็คือ ‘อาจัว’ ที่หลายคนอาจคุ้นเคยจากสปอตโฆษณาตั้งแต่เธอยังเป็นเด็กน้อยน่ารัก ที่มาพร้อมกับคำพูดซื่อๆ ใสๆ สไตล์เด็กเหนือว่า ‘ขอบคุณเจ้า’ ที่ทำให้ใครหลายคนตกหลุมรักและเอ็นดูได้ทันที
จุดเริ่มต้นของการเป็นผู้ให้ของอาจัวเกิดจากการเป็นผู้รับมาก่อน หลังจากทีมงานคาราวานไออุ่นได้เดินทางไปมอบผ้าห่มที่ดอยปุย จังหวัดเชียงใหม่ ได้เห็นเด็กน้อยตัวเล็กๆ น่ารักน่าชังคนนี้จากการที่เธอมารับมอบผ้าห่มพร้อมกับพ่อแม่ ที่วันนี้กลายเป็นเด็กสาววัยรุ่นน่ารัก พูดจาฉะฉาน มีดวงตาเป็นประกาย รอยยิ้มสดใส และหัวใจแห่งการให้ที่ยั่งยืน
“หนูได้รับผ้าห่มตอนอายุ 5 ขวบ ตอนนั้นขึ้นไปหาคุณปู่กับคุณย่าบนดอยปุย ช่วงนั้นเป็นฤดูหนาวประมาณเดือนมกราคม ระหว่างที่หนูกำลังวิ่งเล่นอยู่ก็บังเอิญไปเจอพี่ๆ จากไทยเบฟกำลังแจกผ้าห่มอยู่พอดี พี่ๆ เขาก็มอบผ้าห่มให้
“แต่หนูลงมาเรียนในเมืองตั้งแต่เด็ก พอเวลาผ่านไปจนเรียนชั้น ม.3 มีพี่ๆ ไทยเบฟพยายามขึ้นไปหาหนูที่ดอยปุย เอาภาพหนูตอนเด็กที่พี่เขาเคยถ่ายไว้ไปถามชาวบ้านว่าเด็กในภาพอยู่บ้านหลังไหน พอพี่ๆ ได้เจอกับคุณปู่และคุณย่า เขาจึงบอกว่าหนูอยู่ในเมืองเชียงใหม่ เขาเลยลงมาตามหาหนูจนเจอกัน
“จากนั้นหนูก็ได้เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการ จนถึงทุกวันนี้ก็ 6-7 ปีแล้ว และหนูก็หวังต่อไปว่าจะได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ไปเรื่อยๆ เพราะหนูชอบอยู่กับเด็กๆ ทุกครั้งที่ไปลงพื้นที่ก็มักจะมีเด็กๆ มาอยู่รายล้อม หนูชอบโมเมนต์ที่ได้เป็นพี่ เหมือนกำลังดูแลพวกเขาอยู่”
จากเหตุการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้อาจัวได้รับโอกาสและความช่วยเหลือจากโครงการในด้านทุนการศึกษา ตั้งแต่ช่วงเรียนชั้นมัธยมศึกษา จนถึงปัจจุบันที่อาจัวกำลังศึกษาในระดับปริญญาตรี สาขาสื่อสารมวลชนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
จากเด็กดอยที่ดูเขินอาย ก้าวสู่การเปลี่ยนผ่านในทางที่ดีขึ้นจากโอกาสที่ได้รับ มีความกล้าคิด กล้าพูด กล้าทำ และเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมของโครงการอยู่เสมอ ทั้งช่วยแจกผ้าห่ม แจกขนม หรือบางครั้งก็ช่วยให้คำแนะนำและส่งต่อเรื่องราวความประทับใจที่ครั้งหนึ่งตนเองก็เคยเป็นผู้รับมาก่อน แต่ตอนนี้ขยับขึ้นมาเป็นผู้ให้แล้ว ในวันนี้เด็กๆ หลายคนอาจเป็นได้เพียง ‘ผู้รับ’ ความอบอุ่น แต่เชื่อว่ารอยยิ้ม ความสุข ที่อาจัวและทีมงานทุกคนแสดงออกและพยายามส่งต่อ จะเป็นความอบอุ่นที่แทรกซึมเข้าไปหัวใจ และทำให้พวกเขารู้สึกว่า ในวันนี้เขามีความสุขเมื่อเป็นผู้รับ สักวันหนึ่งเขาก็สามารถมีความสุขในฐานะ ‘ผู้ให้’ ได้เหมือนกัน
อาจัวมักพูดเสมอว่า จากที่เคยเป็นผู้รับ ตนเองได้ร่วมส่งต่อโครงการในฐานะผู้ให้ และถ้าเรียนจบแล้ว ถ้าหากว่าสามารถทำอะไรที่เป็นประโยชน์กับโครงการนี้ได้ ก็จะทำต่อไป
“หนูคิดว่าการให้ด้วยความรู้สึกที่อยากให้ย่อมดีกว่าแค่การให้เพราะทำตามหน้าที่ จากการที่หนูเคยเป็นผู้ได้รับมาก่อน สิ่งนี้เลยจุดประกายการเป็นผู้ให้ภายในตัวหนู และรู้สึกว่าอยากส่งต่อการให้ไปยังคนอื่นๆ ในสังคม หนูคิดว่าการเป็นผู้ให้สำคัญต่อการอยู่ร่วมกัน เพราะเมื่อเราเริ่มต้นเป็นผู้ให้แล้ว การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ก็จะเกิดขึ้นตามมาและขยายวงกว้างในสังคมต่อไปเรื่อยๆ” สาวสวยผู้สืบสานปณิธานแห่งการให้ กล่าวด้วยรอยยิ้ม
ดูเนื้อหาต้นฉบับ