Brandmove

Central Village ลักชัวรี่ เอาท์เล็ต แห่งแรกของประเทศไทย

เนรมิตความเป็นไทยที่ทุกคนเข้าใจได้ในชั่วพริบตา Central Village ลักชัวรี่ เอาท์เล็ต แห่งแรกของประเทศไทย

เรื่อง
Brandmove

Central Village ลักชัวรี่ เอาท์เล็ต แห่งแรกของประเทศไทย

เนรมิตความเป็นไทยที่ทุกคนเข้าใจได้ในชั่วพริบตา Central Village ลักชัวรี่ เอาท์เล็ต แห่งแรกของประเทศไทย

เรื่อง

สมมติว่าคุณเป็นนักเดินทางชาวจีนที่ยังไม่เคยมีโอกาสมาเที่ยวเมืองไทยเลยสักครั้ง แล้วตอนนี้เครื่องบินก็กำลังลงจอดที่สนามบินสุวรรณภูมิ โปรแกรมแรกของทัวร์ในเช้าวันนี้เริ่มต้นที่เอาท์เล็ตขนาดใหญ่ห่างจากสนามบินไม่ไกลเพิ่งเปิดใหม่หมาดๆ ซึ่งคุณก็พร้อมมากสำหรับการถ่ายเซลฟี่ดีๆ สักใบเพื่อเช็คอินบอกใครต่อใครว่าฉันมาถึงเมืองไทยแล้ว คุณนอนพักผ่อนบนเครื่องบินมาอย่างเต็มที่ แบตเตอรี่ในกล้องของคุณเต็มพร้อมกับเมมโมรี่การ์ดว่างๆ บนพื้นที่ 40,000 ตารางเมตร ไม่ได้กว้างใหญ่เกินไปที่จะใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง เดินเล่นหาของกินและซื้อของติดไม้ติดมือบ้าง ระยะเวลาประมาณนี้โดยสถิติแล้วคุณและครอบครัวสามารถกดรูป 100-200 ใบ ได้แบบสบายๆ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับสถานที่ด้วยว่ามีจุดน่าถ่ายรูปมากน้อยแค่ไหน แต่ก่อนที่รถบัสจะพากรุ๊ปทัวร์ไปถึงที่หมาย คุณก็ฉุกคิดขึ้นได้ว่าคุณเคยไปเอาท์เล็ตมาหลายที่แล้ว และแต่ละที่มันก็เหมือนๆ กันไปหมด จะมีประโยชน์อะไรกับโปรแกรมทัวร์ในเช้าวันแรกของคุณที่นี่ ถึงตรงนี้รถบัสก็จอดสนิทตรงทางเข้าด้านหน้า คุณเดินทางมาถึงแล้ว ลักชัวรี่ เอาท์เล็ต แห่งแรกของประเทศไทย
 


สมมติว่าคุณเป็นสถาปนิกที่ได้รับการติดต่อให้เข้ามาออกแบบโครงการนี้ หน้าที่ของคุณคือเนรมิตความเป็นไทยที่ทุกคนเข้าใจได้ในชั่วพริบตาแม้จะไม่มีประสบการณ์กับเมืองไทยมาก่อน จัดการความแตกต่างให้กับร้านค้าในโครงการให้มีความโดดเด่นในตัวเองกันได้ทุกร้าน คุณจะบริหารความน่าสนใจในพื้นที่ทุกตารางเมตรของหมู่บ้านนี้อย่างไร ภายใต้ความคาดหวังของเหล่านักท่องเที่ยวผู้ซึ่งสนใจความแปลกใหม่ และภายในงบประมาณที่จำกัดอย่างถึงที่สุด

ทิศทาง สตูดิโอ (TIDTANG STUDIO) คือทีมสถาปนิกที่เข้ามารับผิดชอบโครงการนี้ พวกเขาเริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจรูปแบบของโครงการให้ชัดเจนว่ามันเป็นพื้นที่ของคนหมู่มากที่มาเดินซื้อของกัน ตามโจทย์จากเซ็นทรัลที่ต้องการนำเสนอความเป็นไทยที่จะช่วยทำให้เอาท์เล็ตแห่งนี้แตกต่างจากเอาท์เล็ตที่ประเทศอื่น กระบวนการออกแบบครั้งนี้จึงดูคล้ายกับการเล่นเกมต่อจิ๊กซอว์ที่มีปัญหาหลายส่วนให้จัดสรร ประเด็นแรกอยู่ที่การถอดรหัสความเป็นไทยที่คนส่วนใหญ่เข้าถึงได้
 


ภายในเวลาไม่กี่อึดใจ ย้อนกลับไปที่การตีความโจทย์ในเรื่องความเป็นหมู่บ้านแบบที่ชื่อโครงการนั่นคือ Central Village ปักธงไว้ พวกเขาจำแนกองค์ประกอบของความเป็นชุมชนไทยสมัยก่อนว่าประกอบไปด้วยลักษณะของสิ่งปลูกสร้าง 4 แบบ คือ ตลาด บ้าน วัด และวัง ซึ่งสิ่งที่เป็นจุดร่วมเมื่อนำภาพของอาคารทั้งสี่แบบมาซ้อนทับกันก็คือหลังคาทรงจั่วที่ประกอบไปด้วยเส้นโค้งชันสองเส้นจากซ้ายและขวาที่บรรจบกันตรงกลางเป็นมุมแหลม รูปทรงง่ายๆ ที่สิงสถิตอยู่ภายใต้จิตสำนึกของคนในชาติรวมไปถึงชาวต่างชาติผ่านการประชาสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยวของประเทศเรามาอย่างยาวนานดูจะเป็นคำตอบที่ใช่
 

ประเด็นที่สองคือการจัดสรรพื้นที่เพื่อให้เกิดความแตกต่างน่าสนใจในทุกตารางเมตร ทิศทาง สตูดิโอ นำเสนอไอเดียในการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน โดยเรียกมันว่าหมู่บ้านช่างไทย 4 หมู่ ประกอบด้วย หมู่บ้านช่างปั้นดินเผา หมู่บ้านช่างไม้ หมู่บ้านช่างจักสาน และหมู่บ้านช่างเหล็ก การกำหนดพื้นที่ออกเป็นหมู่บ้านทั้ง 4 ลักษณะ ทำให้เกิดแนวทางในการตกแต่งพื้นที่ 4 แบบที่ต่างกัน จำแนกเป็น 1. การตกแต่งโดยใช้วัสดุจริง 2. การตกแต่งโดยใช้แพทเทิร์น 3. การตกแต่งโดยใช้การทาสีที่มีผิวสัมผัส 4. การตกแต่งโดยใช้การทาสีพื้น เมื่อเราเข้าใจสมการพื้นฐานทั้ง 4 แบบนี้ เราจะเห็นวิธีการสร้างความแตกต่างให้อาคารร้านค้าด้วยทางเลือกอีกหลายร้อยแบบที่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างเป็นระบบ เช่น ร้านค้าในหมู่บ้าน ช่างไม้ร้านหนึ่งตกแต่งผนังด้วยแผ่นไม้ซีดาร์ ส่วนร้านถัดมาในหมู่บ้านเดียวกันตกแต่งผนังด้วยลายฉลุของฝาปะกน ถัดมาอีกร้านทาสีฝาผนังที่มีลวดลายคล้ายกับงานไม้ แล้วต่อด้วยร้านที่ทาสีเรียบโทนอุ่น ระบบที่ว่านี้ทำให้ร้านที่อยู่ติดกันจะถูกขับเน้นให้โดดเด่นไม่ดูกลายเป็นร้านเดียวกันไปหมด รวมไปถึงการใช้เทคนิคการผลักระยะลดหลั่นกัน 30-50 เซนติเมตร ใช้บัวหรือคิ้วปูนเพื่อสร้างให้อาคารเรียงแถวดูมีมิติ

 

เนื่องจากต้องทำงานกับร้านค้ากว่า 200 หลัง ทีมงานไม่สามารถเขียนแบบรายละเอียดที่ซับซ้อนและไม่ซ้ำกันเลยให้กับร้านค้าทุกหลังได้ พวกเขาจึงใช้วิธีการสั่งงานผู้รับเหมาด้วยการเขียนรหัส เช่น ร้านค้านี้กำหนดให้ก่อสร้างด้วยรูปแบบ D-3A-WP2-L นั่นก็คือ รหัส D ตัวแรกบอกถึงรูปทรงหลังคา เลข 3A บ่งบอกว่าเป็นวัสดุกระจกและใช้หน้าต่างแบบ A ส่วนรหัส W หมายถึงหมู่บ้านช่างไม้ รหัส P2 คือการทาสีรูปแบบที่ 2 ส่วนตัว L ห้อยท้าย หมายถึงความสูงของหลังคาแบบเตี้ย ซึ่งจะต่างกับหลังคาแบบสูงของร้านข้างๆ ประมาณ 50 เซนติเมตร เป็นต้น การสั่งงานด้วยรหัสแบบนี้เป็นวิธีที่น่าสนใจ เพราะมันช่วยลดความผิดพลาดให้กับงานที่ยุ่งยากซับซ้อน เมื่อสอนให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอ่านรหัสให้ได้ตรงกัน
 



ย้อนคุยกันถึงเรื่องความเป็นไทยกันบ้าง ทิศทาง สตูดิโอ  “เราสนใจการหาค่ากลางของความเป็นไทยแบบที่ฝรั่งเข้าใจและคนไทยรับได้” พวกเขาเข้าใจดีว่าความเป็นไทยมีหลายระดับ ความเป็นไทยแบบโบราณอาจเป็นอะไรที่ฝรั่งชอบใจแต่คนไทยเบื่อ มันเป็นเส้นบางๆ ระหว่างเอกลักษณ์หรือของต้องห้ามที่นักออกแบบต้องใช้อย่างระมัดระวัง “การที่เราเล่นกับของที่มีรูปทรงชัดเจนแบบนี้ เราไม่ติดใจที่คนจะวิจารณ์ซึ่งเราเคยใช้มาแล้วในโปรเจ็คต์ Busaba Ayutthaya ซึ่งสำหรับโครงการนี้ที่ต้องการความเป็นไทยแบบเข้าใจง่ายมากๆ มันจึงจำเป็นต้องใช้ความเป็นไทยที่เป็นค่ากลางๆ ซึ่งบังเอิญว่ารูปแบบของสถาปัตยกรรมไทยมันมีลักษณะร่วมที่เป็นรูปทรงแบบนี้ ความจริงแล้วพวกเราสนใจความเป็นท้องถิ่นมากกว่า อยากจะหยิบมาใช้ในทุกโปรเจ็คต์ที่เราทำได้ และบางครั้งมันก็ไม่ใช่รูปทรงแบบหลังคาจั่วนี้เสมอไป”
 

ในปีที่แล้วจำนวนของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศไทยอยู่ประมาณ 38 ล้านคน ซึ่งมากเป็นอันดับ 4 ของโลก สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 2 ล้านล้านบาท จากข้อมูลนี้มีสิ่งที่น่าภาคภูมิใจอย่างหนึ่งว่าอย่างน้อยความเป็นไทยนั้น (ยัง) ขายได้ ในยุคแนวคิดการพัฒนา ‘เมืองสนามบิน’ หรือ Aerotropolis เริ่มต้นนับหนึ่งแล้วในเมืองไทย เรายังต้องต้อนรับผู้คนจากที่ไกลๆ หลากหลายวัฒนธรรมอีกมาก ความเป็นไทยของคนไทยกับความเป็นไทยของนักท่องเที่ยวจะมาบรรจบกันได้หรือไม่ เราจะไขความลับในเรื่องนี้ได้อย่างไรในเมื่อความจริงมิได้มีเพียงหนึ่งเดียว หรือจริงๆ แล้ว ความจำเป็นต้องมีคำอธิบายความเป็นไทยไว้หลายชุดสำหรับกลุ่มเป้าหมายหลายระดับต่างหากที่เป็นสิ่งน่าพิจารณาที่สุดในตอนนี้



ดูเนื้อหาต้นฉบับ

22 December 2019
2400

CONTRIBUTORS

RELATED POSTS

...

BANGKOK METROPOLITAN ADMINISTRATION’S IDENTITY SYSTEM

เรื่อง สันติ บุญสา

Farmgroup ปล่อยภาพตราสัญลักษณ์กรุงเทพมหานคร รวมถึงระบบอัตลักษณ์ของเมืองโฉมใหม่ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา วันนี้อยากชวนมาย้อนดูว่า กระบวนการดีไซน์ผลงานของพวกเขาเป็นอย่างไรบ้าง

...

แชมป์-สมชนะ กังวารจิตต์

เรื่อง สันติ บุญสา

Prompt Design บริษัทออกแบบมือรางวัลที่ให้ความสำคัญกับการเนรมิตบรรจุภัณฑ์นานกว่า 18 ปี

...

ETRANMYRA จักรยานยนต์ไฟฟ้า

เรื่อง สันติ บุญสา

จักรยานยนต์ไฟฟ้า เน้นเจาะตลาด Rider ส่งอาหาร และพัสดุ

...

NOBLE แผนปี 2021 เปิด 11 โครงการ มูลค่า 45,100 ล้าน

เรื่อง สันติ บุญสา

NOBLE ประกาศแผนปี 2021 ทุ่มเปิด 11 โครงการ มูลค่า 45,100 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์

...

Nikon ยุติผลิตกล้องถ่ายภาพในญี่ปุ่นที่มีมากว่า 70 ปี

เรื่อง สันติ บุญสา

Nikon ยุติผลิตกล้องถ่ายภาพในญี่ปุ่นที่มีมากว่า 70 ปี ย้ายมาผลิตในไทยแทน เพื่อลดต้นทุน

...

FiLMiC Pro ปล่อยอัปเดตใหม่ เพิ่ม LogV2 ที่มี Dynamic Range ที่ดีขึ้น

เรื่อง สันติ บุญสา

แอปถ่ายวิดีโอ FiLMiC Pro สำหรับ iOS ได้ปล่อยอัปเดตฟีเจอร์ใหม่ที่สำคัญ อย่าง LogV2 ที่รองรับ Dynamic Range มากขึ้น ลดเสียงรบกวน และการปรับความเข้มสีแบบใหม่

ติดตามข่าว DAYPOSURE