pagemaker

ชายพายเรือและเรือพายลำท้าย ๆ ในคลองบางกอกใหญ่

ชายพายเรือและเรือพายลำท้าย ๆ ในคลองบางกอกใหญ่

เรื่อง
pagemaker

ชายพายเรือและเรือพายลำท้าย ๆ ในคลองบางกอกใหญ่

ชายพายเรือและเรือพายลำท้าย ๆ ในคลองบางกอกใหญ่

เรื่อง

        2 ปีก่อน ฉันมาช่วยเพื่อนเตรียมงานแต่งงานที่บ้านริมคลองบางกอกใหญ่ หรือคลองบางหลวง เพื่อนชวนไปนั่งท่าน้ำหน้าบ้าน พร้อมบอกข้อควรปฏิบัติว่า เมื่อเรือนักท่องเที่ยวแล่นผ่าน ให้โบกมือทักทายและส่งยิ้มให้เขาทุกครั้ง ทุกคนเชื่อและทำหน้าที่เจ้าบ้านที่ดีอย่างแข็งขัน

เรือหางยาววิ่งขวักไขว่นำนักท่องเที่ยวลำแล้วลำเล่าชมวิถีชีวิตริมน้ำ เพื่อนเปรยว่าวันหนึ่ง ๆ มีเรือผ่านไปมานับร้อยเที่ยว ฉันพลอยตื่นเต้นที่รู้ว่าชาวต่างชาติสนใจการท่องเที่ยวทางน้ำมากขนาดนี้ เราเองก็เผลอตื่นเต้นกับข้อมูลเดียวที่เราได้ยิน 

......................

เรือพายหายไปไหนกันหมด ? 

สองสามวันที่นี่ ฉันไม่พบเรือพายสักลำ แต่เมื่องานแต่งสิ้นสุด คำถามนั้นก็จางไป

จนเมื่อได้เห็นภาพชายพายเรือในคลองบางกอกใหญ่ปรากฏขึ้นบนหน้าฟีดเฟซบุ๊กตัวเอง ภาพนั้นปลุกความสงสัยขึ้นอีกครั้ง และนำฉันกลับมาที่บ้านริมน้ำหลังเดิม

ชายพายเรือคนนี้ชื่อ ศิระ ลีปิพัฒนวิทย์ หรือซัน หลายคนคุ้นหน้าเขาเรื่องรณรงค์การใช้จักรยานในกรุงเทพมหานคร เป็นผู้ริเริ่มแอปพลิเคชัน “ปั่นเมือง” 

แต่วันนี้เราไม่ได้คุยเรื่องจักรยาน แต่จะคุยเรื่อง “เรือพาย” และลอง “พายเรือ” ในคลองบางกอกใหญ่จากท่าน้ำหน้าบ้านใกล้ตลาดพลูไปบ้านศิลปินกับเขาสักครั้ง

......................

พอจะนึกถึงความทรงจำแรกเกี่ยวกับเรือพายในคลองบางกอกใหญ่ได้ไหม

เป็นความทรงจำแบบรางเลือนจริง ๆ น่าจะตอนน้ำท่วมเมื่อประมาณปี 2533 ตอนนั้นอายุ 3-4 ขวบ น้ำท่วมมาถึงสนามหญ้าหน้าบ้าน ที่บ้านมีเรือพลาสติกสีแดงลำเล็ก ๆ เราก็ได้พายเรือเล่นกันในสนามหญ้า ไม้พายเป็นพลาสติก จำได้ว่ามันสนุกมาก

ต่อมาสัก ป.4 ป.5 พ่อซื้อเรือไฟเบอร์ เป็นเรือท้องแบนหัวแหลมท้ายตัดลำสีออกเขียวน้ำเงินมาหัดให้พวกเราสามพี่น้องพายเล่นกันในคลอง ถ้าถามเจตนาของพ่อ เราก็คงไม่รู้เพราะไม่เคยถาม แล้วก็ไม่ได้ถามจนพ่อเสียชีวิตไป จะว่าอยากให้เราว่ายน้ำเป็นเพื่อความปลอดภัย ตอนนั้นเราก็ว่ายน้ำเป็นอยู่แล้ว น่าจะมองเป็นเรื่องสนุกมากกว่า และก็คิดว่าในเมื่อเรามีคลองอยู่หน้าบ้าน พ่อก็คงอยากให้เราใช้ประโยชน์จากคลองได้ 

ดูเหมือนตอนนั้นเรือพายเป็นเรื่องความสนุกในวัยเด็กของ ด.ช. ศิระ เท่านั้น

ใช่เลย จนปิดเทอม ม.1 พ่อกับแม่เราเสียชีวิต พอเปิดเทอม ม.2 จึงต้องเดินทางไปโรงเรียนเอง เลยเดินไปขึ้นรถเมล์ ต่อมาก็ค้นพบว่า อ้าว จริง ๆ แล้วนั่งเรือไปโรงเรียนเร็วกว่ามาก ตอนนั้นเป็นเรือเมล์ธงเขียวธงเหลือง มีธงไว้บอกเส้นทาง รู้สึกว่าสายหนึ่งไปลงที่ท่าสะพานพุทธ อีกสายไปลงท่าราชินี แต่ไม่ว่าท่าไหนก็ใกล้โรงเรียนสวนกุหลาบทั้งนั้น มันเร็วมาก ใช้เวลาแค่ 8 นาที เทียบกับรถเมล์ใช้เวลา 40 นาที

เรือมาเทียบจอดที่ท่าหน้าบ้านได้เลยไหม

ถ้าในยุคสมัยป้าเรา เรือเขายอมจอดที่ท่าเอกชน ท่าส่วนตัว แต่พอถึงรุ่นเรา บ้านเรือนมันเยอะขึ้นให้จอดหมดคงไม่ไหว เลยจอดเฉพาะที่ท่าสาธารณะ ซึ่งท่าที่ใกล้สุดคือท่าตลาดพลู เราเดินลัดเลาะผ่านบ้านสวนไปจนถึงท่าตลาดพลูได้ เมื่อก่อนมีทางเดินเล็ก ๆ เขาอนุญาตให้เดินลัดบ้านได้ สมัยนี้แต่ละหลังมีกำแพงกั้นหมดแล้ว 

ก็เลยใช้เรือโดยสารจนจบ ม.6 

ใช่ ๆ มันเวิร์กมากเลยนะ จาก 40 นาที เหลือ 8 นาที เป็นคนละเรื่อง ก็เกิดเป็นความประทับใจ พอมาช่วง มัธยมปลาย ความเจริญพัฒนาเข้ามาเยอะ บ้านสวนที่เคยเดินผ่านไปขึ้นเรือ เขาให้คนอื่นเช่าแล้วเริ่มปิดทางเดิน เราก็ต้องเดินอ้อมไกลมาก ต้องเดินไปปากซอยตรงสี่แยกท่าพระก่อน แล้วจึงเดินย้อนกลับมาข้ามสะพานเพื่อไปฝั่งตลาดพลู ระยะทางเดินน่าจะสัก 2-3 กิโลเมตร 

เริ่มเดินทางด้วยเรือลำบากขึ้น ไม่คิดเปลี่ยนใจไปใช้พาหนะอื่นหรือ

ไม่นะ เรือยังถือเป็นตัวเลือกที่ดี เพราะว่ามันไม่ติด จะว่าไปมันก็มีส่วนเกี่ยวกับจักรยานอยู่เหมือนกัน พอต้องเดินไกล ๆ 2-3 กิโลเมตร ก็เลยเอาจักรยานมาปั่นไปจอดที่สำนักงานเขตบางกอกใหญ่ แล้วก็เดินไปขึ้นเรือ แต่ต่อมากังวลว่ามันจะหาย ก็เลยปั่นไปไม่บ่อย จะเลือกปั่นจักรยานเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์แทน พี่น้องคนหนึ่งจะต้องปั่นไปส่งแล้วปั่นกลับบ้าน ไม่ทิ้งจักรยานไว้

เหมือนเรือจะเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ตอนนั้นสนใจเรื่องศิลปะเรือ เรื่องการต่อเรือหรือยัง 

เราไม่ได้ศึกษาเรื่องศิลปะหรือรูปทรงเรืออย่างจริงจัง แต่ความฝันสูงสุดด้านงานช่างของเรา คือการต่อเรือ มันใช้ความรู้รอบด้านของงานไม้เลย ทั้งเรื่องต่ออย่างไรให้แนบสนิท มีการดัดไม้ สร้างสมดุลต่าง ๆ ถึงจะทำให้เรือวิ่งได้ดี อย่างสร้างบ้านขี้ริ้วขี้เหร่ก็สร้างได้ แต่เรือมันที่สุดแล้ว การทำเรือให้น้ำไม่รั่ว ทรงตัวนิ่งได้ มันไม่ใช่ว่าทำไปมั่ว ๆ ได้ ต้องเอาศาสตร์ทั้งหลายมาใช้

พูดถึงตรงนี้ เรานึกถึง อาแปะเฮ้า แกเป็นช่างไม้ซ่อมเก้าอี้ เฟอร์นิเจอร์ให้บ้านพวกเรา คำว่า Carpenter จึงเป็นศัพท์ภาษาอังกฤษคำแรกที่เราตั้งใจจำ ก็เพราะแกเลย มันเจ๋งมาก สองมือของเราสามารถสร้างงานขึ้นมาเองได้ ยิ่งคนสมัยก่อนต่อคนเดียวได้นี่เก่งจริง ๆ 

แล้วเรือที่พายไปบ้านศิลปินวันนี้คือเรืออะไร

ลำที่พายคือเรืออีแปะ เป็นเรือที่แม่ค้าใช้ ก็เลยคิดว่าน่าจะใช้ในคลองที่มีคลื่นแรง ๆ จากเรือยนต์ได้ ไม่ล่มง่าย ๆ ส่วนอีกลำที่ซื้อเพิ่ม คือเรือบด เรือชนิดนี้เป็นความฝันสูงสุดที่เราอยากต่อเรือ แต่ว่าต้องดีไซน์ใหม่ให้เรือบดมันพายในคลองที่มีคลื่นได้ ถ้าจะแก้ปัญหาเรื่องโคลงก็ต้องทำให้แบนกว่านี้ ถ้าอยากจะให้มันพุ่งไปข้างหน้า อาจต้องมีครีบ แล้วติดหางเสือเพื่อให้เลี้ยวง่าย จริง ๆ ทรงเรือบดที่เขียนในตำราคือเป็นไม้สามแผ่น แต่ลำนี้ 5 แผ่น จะเพิ่ม 2 แผ่นที่ก้นก็น่าจะช่วยไม่ให้เรือโคลงได้ ส่วนหัวเรือเรียว ๆ เอาไว้แหวกน้ำได้ จริง ๆ แล้วเรือบดเป็นเรือที่ลอกเลียนแบบเรือต่างชาติ “บด” นี่คือ “Boat” คนไทยฟังมาเลยเพี้ยนมาเป็นบด

เล่าเรื่องคลองบางกอกใหญ่ให้ฟังบ้าง

คลองบางกอกใหญ่ คือแม่น้ำเจ้าพระยาในอดีต เป็นเสมือนถนนสายหลักในสมัยก่อน เป็นย่านเก่าแก่ที่เจ้าขุนมูลนายอยู่กันมาตั้งแต่กรุงธนบุรี เป็นคลองแรกที่มีไฟฟ้าส่องสว่าง แต่ก่อนหน้ากรุงธนบุรีก็น่าจะมีชาวบ้านทำสวนทำไร่ เมื่อก่อนการสัญจรก็ต้องทางน้ำ การค้าขายก็ต้องทางน้ำ อย่างบ้านอาแปะฝั่งตรงข้ามก็เป็นโรงข้าวสารริมน้ำ รับข้าวสารมาแล้วขายไป 

มีเรื่องเกี่ยวกับคลองบางกอกใหญ่ที่ผู้ใหญ่เล่าให้ฟังและจำได้ฝังใจบ้างไหม

โอ้ยย เยอะ เช่นเรื่องกุ้งที่อาแปะชอบเล่าเรื่องโจ๊กให้ฟังบ่อย ๆ คือเมื่อก่อนตอนแกเป็นเด็ก ตรงนี้จะเป็นบ้านเรือนแถวไม้ริมน้ำ พื้นเป็นไม้กระดานยาว แกชอบไปนอนเล่นริมน้ำ แล้วเอาไฟส่อ

ตามร่องไม้กระดาน มันจะมีไม้กระดานแผ่นที่เปิดได้เอาไว้ฉี่ตอนดึก ๆ พอแกก็เอาไฟฉายส่องตอนกลางคืนก็จะเห็นตากุ้งมันวาวเต็มไปหมด มีอยู่คืนหนึ่งอาแปะเอามือล้วงลงไปรวบจับทีเดียวได้สองสามตัว แต่พอจับปุ๊บเอาขึ้นมาไม่ได้ เพราะว่าร่องกระดานมันเล็กกว่ากุ้งแม่น้ำมาก อยากเอาขึ้นมาก็เอาไม่ได้ ในที่สุดก็ต้องปล่อยกุ้งไป 

สมัยก่อนในคลองกุ้งเยอะมาก ๆ บางทีได้กุ้งตัวเล็กก็ขี้เกียจกินจึงโยนเล่นขึ้นหลังคาบ้านที่เป็นสังกะสี กุ้งก็กลายเป็นกุ้งแห้ง สมัยนั้นก็ไม่ได้คิดเรื่องทรมานสัตว์อะไร เพราะมันเยอะมาก กินบ้างทิ้งบ้าง เรื่องที่อาแปะเล่าน่าจะประมาณ 70 กว่าปีก่อน ตอนนี้อาแปะอายุ 84 ปีแล้ว พอมีการตัดถนนเทอดไท ถนนรัชดา วิถีริมน้ำก็ค่อย ๆ เปลี่ยนไป 

ทำไมถึงอยากพายเรือในขณะที่แทบไม่เห็นเรือพายสักลำในคลองบางกอกใหญ่แล้ว

จริง ๆ นอกจากเราแล้ว มีพระรูปหนึ่งจากวัดนวลนรดิศ พายเรือบิณฑบาตทุกเช้านะ ที่พายเรืออาจเพราะเราประทับใจ จึงอยากชวนคนรู้จักมาพายเรือกัน ระหว่างทางได้แวะพูดคุยกับคนริมน้ำ แรก ๆ เขาจะมองด้วยสายตาระแวดวะวัง มันมีอคติของคนริมน้ำกับคนพายเรืออยู่ คือกลัวเรามาขโมยของ เพราะขโมยส่วนมากมาทางน้ำ พายเรือมาบ้าง นั่งโฟมมาบ้าง จึงพยายามอยากสร้างชุมชนที่ปลอดภัย เพราะจริง ๆ พื้นเพของชุมชนบ้านเราคือคนรู้จักกัน เป็นเครือญาติ เป็นเพื่อนกันหมด เหมือนมีตาเฝ้าระวังเหตุเสมอ เรารู้สึกว่าสังคมแบบนี้น่าอยู่ พอคนเริ่มชินกัน เราก็เกิดบทสนทนาที่ไว้วางใจกัน บางครั้งเราเดินเที่ยว ก็จะถือไม้พายไปด้วย ไม่ทิ้งไว้ในเรือ ไม้พายจึงเปรียบเป็นใบเบิกทางในการเริ่มบทสนทนา เขาจะเริ่มถามว่า “พายเรือมาเหรอ” จากนั้นเราก็ได้พูดคุยกัน

      

ดูเหมือนศิระจะหลงเสน่ห์ที่เกิดจากการพายเรือนะ

การพายเรือไปก็เหมือนช่วยส่งเสริมให้วิถีริมน้ำมันดูมีชีวิตขึ้นนะ เหมือนตอนเด็ก ๆ เวลาไปนั่งท่าน้ำ พ่อกับแม่บอกว่าให้ทักทายยิ้มแย้มกับฝรั่ง เราก็ถามว่าทำไปทำไม แม่บอกง่าย ๆ ว่าถ้าลองกลับกันเราเป็นนักท่องเที่ยวไปเที่ยวบ้านใคร แล้วเขาทำแบบนี้กับเรา เราจะรู้สึกยังไง รู้สึกดีไหม ไม่ใช่ประเด็นว่าเราจะได้อะไร แต่เป็นการมอบความสุขให้เขา ซึ่งมันทำง่ายมาก 

ส่วนเสน่ห์อีกอย่างเช่นที่เราพายมาบ้านศิลปินวันนี้ นอกจากสนองความสนุกส่วนตัวแล้ว เมื่อไปถึงบ้านศิลปิน เรายังมีส่วนช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว ส่งเสริมการมีอยู่ของพื้นที่นั้นอีก คราวนี้พอพายไปบ้านศิลปินได้ มันเลยเถิดไปเรื่อยกับความท้าทายตัวเอง อยากศึกษาคลองที่เห็นใน Google Map ว่ามันทะลุถึงกันไหม บางครั้งพายไปติดบ้าง ก็ยกเรือข้ามเอา บางทีก็ถอดใจ เพราะใน Google Map บางอย่างมันไม่เห็น บางที่เงาตึกบัง บางที่มีปัญหาประตูน้ำปิด ไปไม่ได้ ส่วนเส้นทางที่พายได้จริงพายได้ดี บางเส้นไม่ได้ปรากฏใน Google Map ด้วยซ้ำ 

อยากเห็นโอกาส หรือค้นเจออุปสรรคอะไรอีกไหมจากการพายเรือ

อยากเห็นความเป็นไปได้ในการใช้เรือสัญจรมากขึ้น ซึ่งภาพที่เราคิดกับที่หลายคนคิดมันไม่ตรงกันเท่าไหร่ หลายคนคิดว่ามีเรือหางยาวมาก ๆ ดีแล้ว ซึ่งจริง ๆ เรือหางยาวมีผลกระทบต่อคนริมคลองเยอะมาก ที่แย่ที่สุดคือ ทำให้เกิดคลื่นรุนแรงซัดตลิ่ง ท่าน้ำ บ้านเก่าพัง เราเห็นแล้วไม่สบายใจ ถ้าเราจะสนับสนุนการสัญจรทางเรือ โดยการใช้เรือหางยาวเยอะ ๆ แบบนี้ เราว่ามันเป็นการสร้างผลกระทบที่ใหญ่หลวง เพราะบ้านริมคลองยังมีหลายหลังที่อายุกว่าร้อยปีทั้งนั้น มันกำลังทรุดโทรมด้วยปัจจัยเหล่านี้ 

อีกปัญหาใหญ่รองลงมาคือเรื่องเสียง ในมุมเราไม่ได้มีผลกระทบมาก เพราะเรานอนง่าย แต่ถ้าเทียบคนอื่น พอเสียงเรือมาปุ๊บก็สะดุ้งตื่น กว่าจะหลับได้อีกรอไป 2 ชั่วโมง ส่งผลต่อปัญหาสุขภาพอย่างมาก มันไม่ใช่แค่วันเดียว ช่วงเดียว แต่เป็นทุกวัน โดยเฉพาะเสาร์-อาทิตย์จะได้ยินทั้งวัน 

คิดวิธีแก้หรือทางออกของปัญหาไว้บ้างไหม

การสนับสนุนเรื่องการสัญจรทางเรือเป็นสิ่งที่ดี ควรมี แต่ต้องคิดมิติของปัญหาที่ส่งผลต่อคนริมน้ำด้วย ต้องเลือกเรือที่เหมาะสม เข้าใจในข้อจำกัดของมัน อย่างตอนนั่งเรือหางยาวสมัยเรียนหนังสือ นั่ง 8 นาทีถึงสะพานพุทธแล้ว มันมหัศจรรย์เกินไป จริง ๆ มันไม่ต้องเร็วขนาดนั้นก็ได้ เราต้องเข้าใจข้อจำกัด ต้องคิดร่วมกับมิติอื่น ๆ ด้วย วันนั้นเราไม่ได้คิดมิติอื่น นอกจากเรื่องความเร็ว ความสะดวก

ถ้าเป็นมิติส่วนตัวหน่อย อยากให้การพายเรือสัญจรทำได้ดีขึ้น ต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้คนพายเรือบ้าง ปัจจุบันการจอดเรือพายต้องใช้ความคิดซับซ้อนมาก ต้องคิดว่าจะจอดยังไง อย่างที่เราไปจอดบ้านศิลปิน ดูเหมือนเราจอดง่าย ๆ แต่จริง ๆ แล้วเราทดลองมาไม่รู้กี่แบบ ลองหลายท่าเรือ ลองผูกหลายท่าทาง ก่อนจะได้ทางออกแบบที่เห็น ถ้าจะส่งเสริมเรื่องการพายเรือเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว หรือออกกำลังกายนั้น ต้องมีสิ่งช่วยเหลือทางกายภาพมากขึ้น ถ้าไม่มี คุณต้องฝึกฝน ต้องทุ่มเท และใช้ทักษะมาก ต้องรัก หรือไม่ก็บ้ามาก ไม่อย่างนั้นเรือคุณพังแน่นอน จอดเสร็จแล้วไม่รู้จะขึ้นอย่างไรอีก เพราะท่าเรือบางที่สูงมาก คุณต้องปีนได้ และไม่กลัวตกน้ำ มันจึงดูขัดแย้งกันอยู่ว่าเราพยายามโปรโมตวิถีชีวิตริมน้ำ ในขณะที่ไม่มีปัจจัยทางกายภาพเอื้อเลย

อาจเป็นไปได้ว่าความรู้ทางน้ำมันขาดช่วง เราไปสนใจทางบกมากขึ้น จนคนเจเนเรชันที่รู้เรื่องทางน้ำมันขาดไป พอจะรื้อฟื้นก็มีความรู้แบบงู ๆ ปลา ๆ ต่อไม่ติด อย่างเรากับแปะเฮ้าก็เช่นกัน กว่าเราจะรู้ตัวว่าเราสนใจเรื่องพวกนี้มาก แปะเฮ้าก็ตายไปแล้ว ไม่สามารถถามอะไรได้มากกว่าความทรงจำเลือน ๆ ที่มี 

ถ้านี่คือคำถามสุดท้าย มีอะไรที่อยากบอกอีกไหม

อยากบอกว่าการพายเรือเป็นการใกล้ชิดกับธรรมชาติที่ง่ายที่สุดทางหนึ่ง เราต้องเรียนรู้ธรรมชาติหลายศาสตร์มาก เห็นคลื่น เห็นการปะทะ การปรับตัวต่าง ๆ น้ำขึ้นน้ำลง ดวงจันทร์ เป็นการเรียนที่ไม่น่าเบื่อเหมือนตำราเรียน เราสัมผัสในชีวิตได้จริง ๆ เราก็เลยอยากจะเชิญชวนให้คนมาสัมผัสประสบการณ์พายเรือหรือประสบการณ์ริมน้ำ 

ตอนหลังเราพบว่ามีช่องทางที่ง่ายขึ้น และเป็นไปได้สำหรับคนที่ไม่ได้มีบ้านติดริมน้ำแต่อยากเข้าถึงประสบการณ์ริมคลอง นั่นคือเรือพับ กางแล้วคล้ายเรือคายัก แบบ Sit Inside ประสิทธิภาพดีมาก เป็นเรือพับ ไม่ต้องสูบลม น้ำหนักเบา 10 กิโลกรัมนิด ๆ พับเสร็จเป็นกระเป๋าถือเลย ชื่อโอรุคายัก หรือเรือคายักพับได้ มาจากคำว่าโอริกามิ เทคนิคการพับกระดาษญี่ปุ่น ข้อจำกัดคือราคาแพง ประมาณสี่ห้าหมื่น และนั่งได้คนเดียว จะชวนเพื่อนไปพายเที่ยวก็ยากหน่อย ตอนนี้เหลือแค่ทำให้ถูกลง 

ถ้าเราจะอนุรักษ์น้ำ เราต้องเข้าใจแม่น้ำลำคลองก่อน แต่ตอนนี้คนขาดตรงนี้ การเข้ามาสัมผัสโดยการพายเรือ ต่างกับการนั่งเรือเครื่องเยอะมาก เรือเครื่องเหมือนเราย้ายที่นั่งเท่านั้นเอง ไม่ต้องทำอะไรเลย ไม่ใช้ทักษะอะไรเลย ไม่ต้องโยกสะโพก ไม่ต้องสนน้ำขึ้นน้ำลง อย่างเมื่อเช้าก่อนพายเรือไปบ้านศิลปิน เราก็ดูดวงจันทร์ วันนี้ใกล้เต็มดวง น้ำเต็ม ไม่ว่าน้ำขึ้นหรือน้ำลง กระแสมันแรงแน่ 

ในเรื่องการเรียนรู้ การให้เด็กฝึกพายเรือจะกระตุ้นความสนใจในการศึกษาหาความรู้อื่น ๆ ได้เยอะมาก มองมุมไหนมันปรับได้หมด ทั้งทางภูมิปัญญา วิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณีเกี่ยวกับน้ำ ด้านฟิสิกส์ วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ เชื่อมโยงได้หมด มันวิเศษประมาณหนึ่ง เป็นเครื่องมือที่ดี

05 August 2018
4380

CONTRIBUTORS

RELATED POSTS

...

BANGKOK METROPOLITAN ADMINISTRATION’S IDENTITY SYSTEM

เรื่อง สันติ บุญสา

Farmgroup ปล่อยภาพตราสัญลักษณ์กรุงเทพมหานคร รวมถึงระบบอัตลักษณ์ของเมืองโฉมใหม่ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา วันนี้อยากชวนมาย้อนดูว่า กระบวนการดีไซน์ผลงานของพวกเขาเป็นอย่างไรบ้าง

...

แชมป์-สมชนะ กังวารจิตต์

เรื่อง สันติ บุญสา

Prompt Design บริษัทออกแบบมือรางวัลที่ให้ความสำคัญกับการเนรมิตบรรจุภัณฑ์นานกว่า 18 ปี

...

ETRANMYRA จักรยานยนต์ไฟฟ้า

เรื่อง สันติ บุญสา

จักรยานยนต์ไฟฟ้า เน้นเจาะตลาด Rider ส่งอาหาร และพัสดุ

...

NOBLE แผนปี 2021 เปิด 11 โครงการ มูลค่า 45,100 ล้าน

เรื่อง สันติ บุญสา

NOBLE ประกาศแผนปี 2021 ทุ่มเปิด 11 โครงการ มูลค่า 45,100 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์

...

Nikon ยุติผลิตกล้องถ่ายภาพในญี่ปุ่นที่มีมากว่า 70 ปี

เรื่อง สันติ บุญสา

Nikon ยุติผลิตกล้องถ่ายภาพในญี่ปุ่นที่มีมากว่า 70 ปี ย้ายมาผลิตในไทยแทน เพื่อลดต้นทุน

...

FiLMiC Pro ปล่อยอัปเดตใหม่ เพิ่ม LogV2 ที่มี Dynamic Range ที่ดีขึ้น

เรื่อง สันติ บุญสา

แอปถ่ายวิดีโอ FiLMiC Pro สำหรับ iOS ได้ปล่อยอัปเดตฟีเจอร์ใหม่ที่สำคัญ อย่าง LogV2 ที่รองรับ Dynamic Range มากขึ้น ลดเสียงรบกวน และการปรับความเข้มสีแบบใหม่

ติดตามข่าว DAYPOSURE