Starbucks ในจีนจับมือ Alibaba เพิ่มบริการ Delivery แก้ปัญหายอดขายตก
Starbucks ในจีนจับมือ Alibaba เพิ่มบริการ Delivery แก้ปัญหายอดขายตก
สตาร์บัคส์ (Starbucks) บุกเข้าสู่ปะระเทศจีนเป็นครั้งแรกในเดือนมกราคม 1999 ภายในระยะเวลากว่า 19 ปีในถิ่นใบชา ตอนนี้สตาร์บัคส์เติบโตในประเทศจีนมากกว่า 2,300 สาขา และตั้งเป้าว่าจะมี 5,000 สาขาภายในปี 2021 หรือคิดเป็นอัตราเฉลี่ยเปิดสาขาใหม่ทุกๆ 15 ชั่วโมง แต่ดูเหมือนในวันนี้เส้นทางกาแฟของสตาร์บัคส์จะไม่หอมหวนดั่งใจหวัง เนื่องจากยอดขายลดลง จนเป็นที่มาของข่าวลือที่ว่า ตอนนี้สตาร์บัคส์กำลังหาช่องทางเพิ่มยอดขาย ด้วย Delivery ซึ่งเป็นเทรนด์การบริโภคอาหารของโลก จนทำให้อัตราการการเติบโตของธุรกิจบริการส่งอาหารพุ่งกระฉูดทั่วโลก
โดยความพยายามในการส่งกาแฟของสตาร์บัคส์นี้ เป็นการจับมือกับ Ele.me สตาร์ทอัพในเครือ Alibaba ที่ให้บริการส่งอาหาร โดยจะเริ่มต้นทดลองบริการส่งกาแฟถึงบ้าน ผ่านแพลตฟอร์ม Ele.me ในปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ เริ่มต้นเดือนกันยายนนี้ ก่อนขยายสู่ 30 เมืองและ 2,000 สาขาทั่วจีนภายในสิ้นปี 2561
“ด้วยพันธมิตรกว่า 45,000 ราย ที่มอบประสบการณ์อันยอดเยี่ยมให้กับลูกค้ามาโดยตลอด ธุรกิจของสตาร์บัคส์ในประเทศจีนจึงเติบโตและรุดหน้าด้วยนวัตกรรมได้อย่างรวดเร็วกว่าในตลาดอื่นทั่วโลก” เควิน จอห์นสัน ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของสตาร์บัคส์ กล่าว “ความร่วมมือของเรากับอาลีบาบาจะขับเคลื่อนการพลิกรูปแบบของธุรกิจค้าปลีกสู่อนาคต และยังถือเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยให้เราสามารถมอบบริการคุณภาพที่เหนือกว่าความคาดหวังของผู้บริโภคชาวจีน สตาร์บัคส์ ประเทศจีน เป็นธุรกิจที่ทุกคนต้องจับตามอง และผมก็มั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าทีมงานของเราจะสามารถนำนวัตกรรมที่อยู่เบื้องหลังประสบการณ์สตาร์บัคส์รูปแบบใหม่นี้มาใช้งานให้เกิดประโยชน์ได้อย่างเต็มที่”
แดเนียล จาง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของอาลีบาบา กรุ๊ป กล่าวเสริมอีกว่า “สตาร์บัคส์ไม่ได้เป็นเพียงแหล่งรวมกาแฟเกรดพรีเมียมเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้ผลักดันวัฒนธรรมและไลฟ์สไตล์ของคนรักกาแฟในรูปแบบใหม่ผ่านทางนวัตกรรมและเทคโนโลยี ด้วยแนวคิดและวิสัยทัศน์ในทิศทางเดียวกับเรา ทางอาลีบาบาเองรู้สึกตื่นเต้นไม่น้อยที่ได้มีโอกาสขยายความร่วมมือกับสตาร์บัคส์ ผ่านทางโครงสร้างพื้นฐานล้ำยุคที่รองรับแนวคิด ‘ค้าปลีกยุคใหม่’ และศักยภาพของเทคโนโลยีดิจิทัล ที่ผนึกกำลังกันมอบประสบการณ์รูปแบบใหม่ให้กับผู้บริโภค ความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ถึงความสำเร็จของกลยุทธ์ ‘New Retail’ ของเรา”
ความร่วมมือดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการต่อยอดการผลักดันแนวคิดค้าปลีกยุคใหม่ของอาลีบาบา ซึ่งมุ่งพลิกรูปแบบการค้าขายด้วยการผสานประสบการณ์บนช่องทางออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกัน โดยอาลีบาบาได้นำเสนอแนวคิดค้าปลีกยุคใหม่นี้เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2559 ก่อนจะพัฒนาให้กลายเป็นกลยุทธ์ที่มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมค้าปลีกจวบจนปัจจุบัน
การขับเคลื่อนครั้งนี้ก็เพื่อแข่งขันกับ Luckin Coffee ร้านกาแฟสัญชาติจีนสไตล์อเมริกันมีพื้นเพอยู่ที่ปักกิ่ง นอกจากกาแฟแล้วยังมีเบเกอรี่หลากหลาย ซึ่งใช้วิธีการส่งสินค้า และใช้กลยุทธ์ด้านราคาอย่างหนักเพื่อดึงดูดลูกค้า
ก่อนหน้านี้ สตาร์บัคส์ รายงานผลประกอบการในประเทศจีนว่า มีผลประกอบการลดลง 2% สตาร์บัคส์จึงต้องแสวงหากลุยทธ์ปรับตัวแข่งขันให้ได้ โดย Food Delivery ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคของคนจีนนี่แหละ ที่สตาร์บัคส์คาดหวังว่าจะแก้ไขปัญหานี้ให้ได้
จากข้อมูลของ JingData เปิดเผยว่า ตลาดกาแฟในประเทศจีนมีมูลค่าสูงถึง 100 พันล้านหยวนในปีที่ผ่านมา 72% ยังเป็นกาแฟสำเร็จรูป 18% เป็นกาแฟชง โดยเฉลี่ยแล้วผู้บริโภคสหรัฐอเมริกา ดื่มกาแฟ 269 แก้วต่อปี ขณะที่คนจีนดื่มกาแฟเพียง 4.5 แก้วต่อปีเท่านั้น ดังนั้นร้านกาแฟจึงมีอัตราการเติบโตสูง ในดินแดนแห่ง “ใบชา” แห่งนี้