เราจินตนาการถึง “ปัตตานี” กันไว้อย่างไร จินตนาการน่ากลัวกว่าความจริงหรือไม่ อย่าเพิ่งปักใจเชื่ออะไรง่ายๆ จนกว่าจะได้ไปเยือนด้วยตัวเอง
เราจินตนาการถึง “ปัตตานี” กันไว้อย่างไร จินตนาการน่ากลัวกว่าความจริงหรือไม่ อย่าเพิ่งปักใจเชื่ออะไรง่ายๆ จนกว่าจะได้ไปเยือนด้วยตัวเอง
พ.ศ. นี้
เราจินตนาการถึง “ปัตตานี” กันไว้อย่างไร
จินตนาการน่ากลัวกว่าความจริงหรือไม่
อย่าเพิ่งปักใจเชื่ออะไรง่าย ๆ
จนกว่าจะได้ไปเยือนด้วยตัวเอง
และเรื่องราวต่อไปนี้คือ
“ปัตตานีที่เราไปรู้จัก”
ป.ล. เรื่องนี้หยิบยกแหล่งท่องเที่ยวในปัตตานีมานำเสนอเพียงบางส่วนเท่านั้น และลำดับการนำเสนอไม่เกี่ยวข้องกับการจัดอันดับใด ๆ ทั้งสิ้น
หาดปัตตานี
เมื่อความงามสนทนากับความเงียบ
ชายหาดของปัตตานียาวถึง 116.40 กิโลเมตร ไล่ตั้งแต่อำเภอหนองจิก อำเภอเมืองฯ ยะหริ่ง ปะนาเระ ไปถึงสายบุรีและไม้แก่น มีชายหาดมากมายให้แวะชม
เราเริ่มปักหมุดที่หาดแฆแฆ (“แฆแฆ” เป็นภาษามลายูท้องถิ่น หมายถึงอึกทึกครึกโครม) โขดหินใหญ่แบ่งหาดออกเป็นสามเวิ้งหลัก ให้เราสนุกสนานกับการปีนป่ายสไตล์ผจญภัยเล็ก ๆ ดื่มด่ำกับหาดทรายสีทองและโขดหินทรงแปลกตาอย่างเงียบ ๆ หิวเมื่อไหร่เดินผละจากหน้าหาดมานิดเดียวมีร้านขายอาหารเรียงราย นั่งกินรับลมทะเลได้ชิล ๆ
ไล่เรื่อยขึ้นมาแวะหาดมะรวด หาดปะนาเระ ก่อนมาหยุดที่หาดตะโละกาโปร์ เพราะเหลือบเห็นเรือกอและ ราชินีแห่งสายน้ำ จอดอวดลวดลายสีจัดที่ผสมผสานระหว่างลายไทย มลายูท้องถิ่น และจีนอย่างสวยงาม
ลวดลายของเรือส่วนใหญ่เป็นฝีมือของช่างวาดจากอำเภอสายบุรี ซึ่งเหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่งในภาคใต้
ทำไมเรือประมงต้องสีสดลายสวยขนาดนี้ ?
“ไม่รู้เหมือนกัน แต่ถ้าเรือไม่สวย ลุงไม่อยากออกทะเลเลย” คุณลุงชาวประมงหน้าหาดตะโละกาโปร์ตอบ
ที่อยู่: หาดแฆแฆ ตำบลบ้านน้ำบ่อ อำเภอปะนาเระ หาดตะโละกาโปร์ ตำบลตะโละกาโปร์ อำเภอยะหริ่ง
แนะนำ: หากจะลงเล่นน้ำให้สอบถามชาวบ้านแถบนั้นก่อน เนื่องจากความลาดชันของชายหาดเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล
มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี
เมื่อเย็นวันฮารีรายอ
มัสยิดกลางฯ เปิดไฟประดับตัดกับสีท้องฟ้าใกล้ค่ำของวันฮารีรายออีดิลฟิตรี
แสงไฟขับมัสยิดรูปทรงคล้ายทัชมาฮาลให้ดูเด่น ที่แห่งนี้ใช้เวลาสร้างกว่า 9 ปี นับแต่ พ.ศ. 2497 ด้วยรัฐบาลเห็นว่าใน 5 จังหวัดภาคใต้มีประชาชนนับถือศาสนาอิสลามจำนวนมาก สมควรสร้างมัสยิดขนาดใหญ่ไว้ประกอบศาสนกิจ
วันนี้พี่น้องมุสลิมออกมาเฉลิมฉลองหลังการถือศีลอดสิ้นสุด ช่วงเย็นผู้คนยังคึกคัก เรายืนเก้ ๆ กัง ๆ หน้ามัสยิด หันซ้ายแลขวา ทุกคนต่างสวมเสื้อผ้าชุดใหม่สวยงาม มีเพียงเราที่แต่งชุดเก่าแต่มั่นใจว่าสุภาพยืนงงอยู่นอกรั้ว ก่อนที่จะถูกเชื้อเชิญให้เข้าไปชมความงามของมัสยิดและสัมผัสความเป็นมิตรของพี่น้องมุสลิมภายในรั้ว
ในปัตตานียังมีมัสยิดสวยงามอีกมากมายที่เข้าชมได้ เช่น มัสยิดกรือเซะ มัสยิดดาโต๊ะ ฯลฯ
ที่อยู่: ถนนยะรัง ตำบลอาเนาะรู อำเภอเมืองฯ
แนะนำ: สวมชุดสุภาพคลุมเข่า เสื้อแขนยาว เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 09.00-15.30 นาฬิกา ยกเว้นวันศุกร์ซึ่งเป็นวันละหมาดใหญ่ประจำสัปดาห์
Derndin Little Farm
แรงบันดาลใจสร้างได้
ไม่รู้จะเรียกที่นี่ว่าอะไรดี
พื้นที่ 5 ไร่ก่อนถึงตลาดปาลัสอบอวลไปด้วยแรงบันดาลใจแก่ผู้มาเยือน พี่เอ็ม-เอ็มโซเฟียน เบญจเมธา หนุ่มนักออกแบบจบด้านศิลปะประยุกต์และการออกแบบเฟอร์นิเจอร์จากฝรั่งเศส หลังทำงานออกแบบในกรุงเทพฯ 2 ปี จึงตัดสินใจกลับปัตตานีบ้านเกิดมาอยู่กับดินอย่างจริงจัง
เซรามิกแบรนด์ Benjametha มีอัตลักษณ์โดดเด่นสื่อถึงความเป็นมุสลิมวิถี พร้อมสอดแทรกคำสอนตามหลักศาสนาอิสลามลงในชิ้นงาน การันตีด้วยรางวัลด้านออกแบบมากมาย เช่น รางวัลชนะเลิศ Innovative Craft Award 2014 ของศูนย์ศิลปาชีพระหว่างประเทศ (ศศป.) รางวัล Design Excellence Award 2012 ฯลฯ
อีกมุมหนึ่งของบ้านคือทุ่งนากว้างสุดลูกหูลูกตา มีแพะวิ่งกันอย่างสบายใจ หนึ่งในนั้นคือแพะสีออกหมอก ๆ เทา ๆ ที่พี่เอ็มตั้งใจพัฒนาพันธุ์ให้เป็นพันธุ์พื้นเมืองของหมู่บ้านชื่อว่า“แพะกัมปงปาลัส” (“กัมปง” แปลว่าหมู่บ้าน ส่วน “ปาลัส” เป็นชื่อหมู่บ้านที่นี่) คอกแพะด้านหลังยังแปลงโฉมเป็นสนามยิงธนูในบางขณะ
นอกจากนั้น พี่เอ็มยังใช้ความรู้ด้านการออกแบบมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นให้ร่วมสมัยมากขึ้น เช่น ทำลูกข่างเป็นรูปทรงหัวกรงนก ทำขวานที่ระลึก ฯลฯ และตั้งใจส่งต่อองค์ความรู้ให้กับเยาวชนในชุมชน
แน่ละ ที่นี่ไม่ใช่ศูนย์ฝึกอาชีพ ไม่ใช่สนามเด็กเล่น ไม่ใช่แหล่งเวิร์กช็อป ไม่ใช่ฟาร์มแพะ ไม่ใช่ที่แค้มปิ้ง ฯลฯ ไม่ใช่อย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว แต่คือศูนย์สร้างแรงบันดาลใจที่รวมหลายอย่างไว้ให้เราไปแล้วรู้สึกเอง
ที่อยู่: หมู่ที่ 6 ตำบลควน อำเภอปะนาเระ
เฟซบุ๊ก: BenjamethaCeramic
แนะนำ: สอบถามล่วงหน้าก่อนเข้าชม โทรศัพท์ 08 1609 6934
เปิดทุกวัน เว้นวันศุกร์ เวลา 09.00-17.00 นาฬิกา
ชุมชนท่องเที่ยวบางปู
ลอดอุโมงค์โกงกาง ฟังนิทานหิ่งห้อย
บางปูเป็น 1 ใน 10 ชุมชนท่องเที่ยวของปัตตานี โดดเด่นเรื่องการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ หากมีเวลาเพียง 1-2 ชั่วโมง สามารถลงเรือล่องเข้าไปในป่าโกงกางผืนใหญ่ ลัดเลาะจนถึงช่วงที่เป็นอุโมงค์กว้าง 6 เมตร ยาว 800 เมตร ถือเป็นช่วงเวลาดื่มด่ำกับความเงียบและได้เงี่ยหูฟังเสียงสรรพสัตว์
หลุดพ้นอุโมงค์เจอปากอ่าวปัตตานี บริเวณนี้ยามค่ำคือแหล่งดูหิ่งห้อยจำนวนมาก เหมือนพวกเขานัดกันมาเล่นเวฟเชียร์กีฬา ไฮไลต์อีกจุดคือแคร่ไม้ไผ่บนต้นโกงกาง จุดชมวิวอ่าวปัตตานีสุดชิล จะพักกินข้าวกลางวัน นอนสักงีบ หรือเฝ้าดูนกบินกลับรังยามเย็นจากจุดนี้ก็ฟินไม่แพ้กัน
เมนูยอดนิยมของชุมชนบางปู ได้แก่ ปลากระบอกแดดเดียว ยำสาหร่ายผมนาง ตูมิปลาโอผัด แกงส้มปลาเรียวเซียว หากต้องการกินเมนูปูดำควรสั่งล่วงหน้าสัก 1 อาทิตย์ เนื่องจากใช้วิธีประมงพื้นบ้านในการจับ ทำให้จับได้ครั้งละไม่มาก
ที่อยู่: ชุมชนท่องเที่ยวบางปู ตำบลบางปู อำเภอยะหริ่ง
โทรศัพท์: 08 8389 4508 และ 06 2269 1815
แนะนำ: หากล่องเรือช่วงกลางวันควรเตรียมหมวกไปด้วย เพราะเรือไม่มีหลังคา
ตลาดสดน่าเดิน
เพลินกว่าที่คิด
“อยากรู้จักพื้นที่ไหน ให้ไปเดินตลาดสด” คำพูดนี้ใช้ได้จริงเสมอ เมืองปัตตานีก็เช่นกัน เจ้าบ้านแนะนำให้ไปเดินตลาดจะบังติกอร์ยามเย็น มีอาหารหน้าตาแปลก ๆ ให้เลือกกินในที่เดียว ทั้งไก่ฆอและ (ไก่ย่างหมักเครื่องเทศรสจัด) รอเยาะ (สลัดแขก) โรตีปาแย (แผ่นโรตีกินกับน้ำสะเต๊ะหรือแกง) ตุปะซูตง (หมึกยัดไส้ข้าวเหนียว) ฯลฯ
ส่วนตอนเช้าตรู่ไปเดินตลาดเทศวิวัฒน์ 1 คนแถวนี้เรียกกันว่าตลาดพิธาน เป็นแหล่งรวมอาหารสดทุกชนิด โดยเฉพาะอาหารทะเลที่เพิ่งขึ้นจากเรือ
ประมาณ 7 โมงเช้ามีคุณลุงมุสลิมปั่นสามล้อให้หลวงตานั่งมาบิณฑบาตแถวหน้าตลาด เป็นภาพคุ้นตาแสนงดงามของคนแถบนี้ บริเวณริมคลองข้างตลาดยังมีภาพสตรีตอาร์ตบนผนังตึกสะท้อนวิถีชีวิตคนปัตตานีอีกด้วย
ที่อยู่: ตลาดจะบังติกอร์ ถนนยะรัง อำเภอเมืองฯ (ห่างจากมัสยิดกลางฯ ประมาณ 1 กิโลเมตร)
ตลาดเทศวิวัฒน์ 1 ถนนฤดี ตำบลอาเนาะรู อำเภอเมืองฯ (ฝั่งตรงข้ามเยื้องธนาคารธนชาต ปัตตานี)
แนะนำ: ปัตตานีมีตลาดเสื้อผ้ามือสองที่น่าสนใจหลายแห่ง เช่น ตลาดรูสะมิแล ตลาดยะหริ่ง ฯลฯ
วัดราษฎร์บูรณาราม (วัดช้างให้) ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว
ยึดเหนี่ยวจิตใจไทย-จีน
สองสถานที่ “ต้องไป” เมื่อมาปัตตานี วัดราษฎร์บูรณาราม หรือวัดช้างให้ ตั้งอยู่ใกล้สถานีรถไฟสถานีวัดช้างให้ เป็นวัดเก่าแก่ มีสถูปบรรจุอัฐิหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืดให้สักการะ ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ประดิษฐานรูปแกะสลักเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว เจ้าแม่ทับทิม และเทพเจ้าองค์อื่น ๆ ทุกปีในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 มีงานแห่เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวและพิธีลุยไฟ ลุยน้ำอย่างยิ่งใหญ่ ใกล้ศาลฯ มีพิพิธภัณฑ์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว หรือหอนิทรรศน์สานอารยธรรมปัตตานี แหล่งรวบรวมเรื่องราวเมืองปัตตานีตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ทั้งในแง่ประวัติศาสตร์ ประเพณี วัฒนธรรม วิถีชีวิต และประวัติเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว
ที่อยู่: วัดช้างให้ ตำบลควนโนรี อำเภอโคกโพธิ์
ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ถนนอาเนาะรู ตำบลอาเนาะรู อำเภอเมืองฯ
วังยะหริ่ง-Patani Artspace
แหล่งศิลปะเก่า-ใหม่น่าไปเยือน
วังยะหริ่ง สร้างในสมัยพระยาพิพิธเสนามาตยาธิบดีศรีสุรสงคราม เมื่อปี พ.ศ. 2438 ตรงกับรัชสมัยรัชกาลที่ 5 มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเป็นสถาปัตยกรรมผสมระหว่างไทย มุสลิม จีน และยุโรป ตัวอาคาร 2 ชั้น มีห้องรวมกว่า 20 ห้อง ชั้นบนเคยเป็นที่พักของเจ้าเมืองและบุตรธิดา โถงกลางวังใช้เป็นท้องพระโรง รอบ ๆ มีช่องระบายอากาศฉลุลายไม้สวยงาม ประดับกระจกสี มีบันไดโค้งสไตล์ยุโรป ปัจจุบันอยู่ในการดูแลของทายาทและเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคล
Patani Artspace เป็นที่แสดงงานศิลปะแหล่งใหม่ของปัตตานี มีผลงานจัดแสดงสับเปลี่ยนกันไป ทั้งยังเป็นคล้าย Workspace ของเหล่าศิลปินลูกศิษย์อาจารย์เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ อาจารย์ประจำสาขาทัศนศิลป์ มอ. ปัตตานี
ผลงานที่กำลังจัดแสดงอยู่ขณะนี้ (มิถุนายน) เกี่ยวกับเหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ที่ศิลปินถ่ายทอดผ่านมุมมองและเทคนิคต่าง ๆ ทางศิลปะ ด้านนอกมีร้านกาแฟกลางวิวท้องทุ่งนาน่านั่ง
ที่อยู่: วังยะหริ่ง หมู่ที่ 2 ตำบลยามู อำเภอยะหริ่ง
Patani Artspace หมู่ 1 ตำบลดอนรัก อำเภอหนองจิก
แนะนำ: ก่อนเข้าวังยะหริ่งให้โทรศัพท์แจ้งล่วงหน้าที่หมายเลขโทรศัพท์ 08 1898 6724
คู่มือนักเดินทาง
จังหวัดปัตตานี อยู่ทางภาคใต้ฝั่งตะวันออก ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 1,055 กิโลเมตร เป็นเมืองสามวัฒนธรรม คือ ไทยอิสลาม ไทยพุทธ และไทยจีน มีแม่น้ำปัตตานีไหลผ่าน ด้านตะวันออกเป็นชายหาดยาว วิธีเดินทางที่แนะนำ คือโดยสารเครื่องบินมาลงที่สนามบินนานาชาติหาดใหญ่ ใช้เวลา 1 ชั่วโมง 25 นาที จากกรุงเทพฯ จากนั้นเหมารถท้องถิ่น หรือเช่ารถขับมาเอง ในสนามบินมีบริษัทรถเช่าหลายบริษัทให้บริการ เช่น Avis, Budget, Hertz ฯลฯ ระยะทางมาถึงอำเภอเมืองปัตตานี 125 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 45 นาที ใช้ทางหลวงหมายเลข 43 (หาดใหญ่-ปัตตานี) สอบถามรายละเอียดเพิ่มได้ที่ ททท. สำนักงานนราธิวาส โทรศัพท์ 0 7352 2411 และ 0 7354 2345 อีเมล tatnarathiwat@hotmail.com หรือเฟซบุ๊ก www.facebook.com/tatnarathiwat
ที่มา : https://www.osothomagazine.com/content/4596//ปัตตานีที่เราไปรู้จัก